ไตรภูมิกถา หรือไตรภูมิพระร่วง เป็นวรรณกรรมชิ้นเอกสมัยกรุงสุโขทัย ที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนถึงปัจจุบัน เพราะได้รวบรวมเอาคติความเชื่อทุกแง่ทุกมุมของทุกชนชั้นหลายเผ่าพันธุ์มา ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้ผู้อ่านผู้ฟังยำเกรงในการทำบาป และยินดีในการทำบุญ ซึ่งเว็บของเรา จะเน้นข้อมูลเกี่ยวกับ มนุสสภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในวรรณกรรมชิ้นนี้

ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า เตภูมิกถา หรือ ไตรภูมิกถา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนชื่อหนังสือเล่มนี้เป็น ไตรภูมิพระร่วง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระร่วงจ้าแห่งกรุงสุโขทัยให้คู่กับหนังสือสุภาษิตพระร่วง

         หอพระสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับไตรภูมิพระร่วงมาจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นใบลาน ๑๐ ผูก จารด้วยอักษรขอมในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมหาช่วย วัดปากน้ำ (วัดกลาง จังหวัดสมุทรปราการ ในปัจจุบัน) เป็นผู้จาร หอพระสมุดวชิรญาณ ได้ถอดความออกเป็นอักษรไทย โดยมิได้แก้ไขถ้อยคำไปจากต้นฉบับเดิม


      เนื้อเรื่องเริ่มต้นด้วยคาถานมัสการเป็นภาษาบาลี  มีบานแพนกบอกชื่อผู้แต่ง  วันเดือนปีที่แต่ง  ชื่อคัมภีร์ต่าง ๆ  บอกจุดมุ่งหมายในการแต่ง  แล้วจึงกล่าวถึงภูมิทั้ง ๓  คำว่า เตภูมิ หรือ ไตรภูมิ  แปลว่า สามแดน  คือ  กามภูมิ  รูปภูมิอรูปภูมิ  ทั้ง ๓ ภูมิ แบ่งออกเป็น ๘ กัณฑ์ (กัณฑ์ = เรื่อง,หมวด,ตอน)

๑. กามภูมิ 
                    เป็นที่กำเนิดของชีวิตทั้งหลายที่ยังลุ่มหลงอยู่ในกามเป็นแดนสุขสบายและแดนที่เป็นทุกข์ปะปนกัน  ผู้ที่เกิดในภูมิต่าง ๆ ผู้ที่เกิดในภูมิต่าง ๆ ในกามภูมิ เพราะผลกรรมของตนเป็นใหญ่กามภูมิแบ่งออกเป็น ๑๑ ภูมิ  ได้แก่  อบายภูมิ ๔  ภูมิ  มนุษย์ ๑ ภูมิ และสวรรค์ ๖ ภูมิ  การพรรณนากามภูมิแบ่งออกเป็น ๖ กัณฑ์
๑.๑  นรกภูมิ   เป็นแดนของสัตว์นรก
๑.๒  ดิรัจแนภูมิ   เป็นแดนของสัตว์ที่เจริญตามขวาง
๑.๓  เปตภูมิ   เป็นแดนของเปรตที่เคยเป็นมนุษย์และทำความชั่ว เกิดเป็นเปรต
๑.๔  อสุรกายภูมิ   เป็นแดนของยักษ์มารหรือผีที่หลอกมนุษย์ให้ตกใจกลัว
๑.๕  มนุสสภูมิ   เป็นแดนของมนุษย์
๑.๖  ฉกามาพจร   เป็นแดนของเทวดาที่ยังเกี่ยวข้องในกาม มี ๖ ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์     ยามะ  ดุสิต  นิมมานรดี  ปรนิมมิตวสวดี

๒.  รูปภูมิ
                    หรือรูปาวจรภูมิ  เป็นที่อยู่ของพรหมมีรูป  เรียกว่า รูปพรหม  ไม่มีเพศ  มีรูปงามบริสุทธิ์  มีแสง   สว่างรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาทั้งปวง มีเสียงไพเราะ และมีอายุยืนหลายพันปีทิพย์ มีทั้งหมด ๑๖ ชั้น  (โสฬสพรหม) จำแนกออกตามชั้นของฌานที่บุคคลได้บรรลุ  เรียงลำดับ ดังนี้ ปริสัชชา ปโรหิตตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมานาภาอาภัสสรา ปริตตาสุภา อัปปมาณาสุภา สุภกิณาหา เวหัปผลา อสัญญิสัตตาอเวหา ตัปปา สุทัสสา สุทัสสี อกนิฏฐา  รูปภูมิที่เรียกว่า มหาสุทธาวาส คือรูปภูมิ ๕ ชั้นสุดท้าย (ชั้นที่ ๑๑-๑๖)  เป็นภูมิที่ไม่ถูกทำลายด้วยไฟบรรลัยกัลป์
๓.  อรูปภูมิ
                    หรืออรูปาวจรภูมิ  เป็นแดนของพรหมไม่มีรูป  มีแต่จิตเท่านั้น  แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น  ได้แก่ อากาสานัญจายตนภูมิวิญญาณัญจายตนภูมิ อากิญจัญญายตนภูมิ เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ 
                    หนังสือเล่มนี้กล่าวเริ่มต้นตั้งแต่การกำเนิของชีวิตต่าง ๆ ว่ามีที่เกิดอย่างไร  แล้วพรรณนาถิ่นที่เกิด คือ ภูมิต่าง ๆ ทั้ง ๓๑ ภูมิ อย่างละเอียดตอนที่ว่าด้วยมนุสสภูมิและโลกสัณฐาน คือภูมิศาสตร์ของโลก  ได้เล่าอย่างละเอียดว่า  ลักษณะของโลกเป็นอย่างไร  ทวีปต่าง ๆ ภูเขา  แม่น้ำคน และสัตว์เป็นอย่างไร  หนังสือเล่มนี้จบลงด้วยการเน้นทางไปถึงการดับทุกข์ คือ พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายอันสูงสุดของชีวิต 

ลักษณะเด่น
                    หนังสือไตรภูมิพระร่วง ถึงแม้ว่าเป็นวรรณคดีโบราณที่ใช้ภาษาไทยแบบเก่า และมีศัพท์ทางพระพุทธศาสนาปะปนอยู่มาก  ทำให้ยากแก่การอ่านสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางพุทธศาสนามาก่อนก็ตาม  แต่สำนวนพรรณนาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้มีความแจ่มแจ้ง ไพเราะ ช่วยให้เกิดจินตภาพหลายตอน  และทำให้เกิดความรู้สึกคล้อยตามไปด้วยเช่น  ตอนพรรณนาถึงความน่ากลัวในนรกภูมิ  และความสุขสบายในสวรรค์ เป็นต้น  ทุก ๆ ตอนที่กล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ได้ทรงอธิบายตอนนั้นอย่างละเอียด  กระบวนพรรณนาที่แจ่มแจ้งแลเห็นจริงจังอันควรยกมาเป็นตัวอย่าง  เช่น  ตอนพรรณนาลักษณะของเปรต  ได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ดังนี้
                    " เปรตลางจำพวก ตัวเขาใหญ่ ปากเขาน้อยเท่ารูเข็มนั้นก็มี  เปรตลางจำพวกผอมหนักหนา  เพื่ออาหารจะกินบมิได้  แม้ว่าจะขอดเอาเนื้อน้อย ๑ ก็ดี  เลือดหยด ๑ ก็ดี  บมิได้เลย  เท่าว่ามีแต่กระดูกและหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้  หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลังแล ตานั้นลึกและกลวงดังแสร้งควักเสีย  ผมเขานั้นยุ่งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา  มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดี และจะมีปกกายเขานั้นก็หามิได้เลย  เทียรย่อมเปลือยอยู่  ชั่วตนเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแลเขานั้นเทียรย่อมเดือดเนื้อร้อนใจเขาแล  เขาร้องไห้ร้องครางอยู่ทุกเมื่อแล  เพราะว่าเขาอยากอาหารนักหนาแล "
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น